Creative Economy : ความสำคัญสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี(SMEs)ในการเข้าสู่ AEC

            ปัจจุบัน ภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ มีความตื่นตัวและให้ความสนใจกับกระแสความคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy กันค่อนข้างมาก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 ประเทศไทย จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะเปิดเสรีการค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน ทำให้ผู้ผลิตสินค้าของไทย นอกจากจะต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยแล้ว สินค้าของไทยเองก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย ในการออกไปแข่งขันและแสวงหาโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสำเร็จจึงขึ้นอยู่ที่ว่า ธุรกิจจะมีศักยภาพการแข่งขันมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการของไทยเป็นจำนวนมาก มักจะเน้นใช้ปัจจัยทางด้าน ราคาเพื่อการแข่งขันหรือการขยายตลาด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศสมาชิกใน AEC หลายประเทศมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทำให้ความได้เปรียบการแข่งขันทางด้าน ราคาของสินค้าไทยเริ่มลดลง ฉะนั้น การจะดึงดูดให้ผู้ซื้อทั้งตลาดในประเทศ รวมทั้งตลาดในกลุ่มอาเซียน หันมาสนใจในสินค้าของไทยมากขึ้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าให้มี ความแตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการแข่งขันทางด้านราคาเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ที่ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาใส่เข้าไปในตัวสินค้าเดิม หรือสร้างสินค้าภายใต้รูปแบบและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้าง สรรค์ ซึ่งเริ่มจะเป็นที่สนใจและมีการพูดถึงในไทยค่อนข้างมากในปัจจุบัน

ภายใต้นิยามของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy จะหมายถึง “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบน พื้นฐานของการใช้องค์ความรู้(Knowledge) การศึกษา(Education) การสร้างสรรค์งาน(Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐาน ทางวัฒนธรรม(Culture) การสั่งสมองค์ความรู้ของสังคม(Wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่(Technology and Innovation)” หรือพูดง่ายๆก็คือ การผลิตสินค้าหรือ บริการให้แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม โดยการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ ผนวกเข้ากับการใส่ความคิดสร้างสรรค์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะช่วยให้สินค้าและบริการนั้น มีความโดดเด่น น่าสนใจ ดึงดูดใจกลุ่มลูกค้า รวมทั้งมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้ง การคิดนอกกรอบจากสิ่งที่มีอยู่เดิมเพียงเล็กน้อย ก็อาจสามารถสร้างสรรค์สินค้าใหม่จนเป็นที่ ต้องการของตลาดได้

ทั้งนี้ สศช. ได้จัดประเภทของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เบื้องต้น โดยยึดกรอบขององค์การความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) และปรับเพิ่มเติมตามรูปแบบของ องค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก และ 15 กลุ่มย่อย ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบโดยกว้าง เพื่อประโยชน์ในการวัดขนาดทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของไทย และสะท้อนถึงความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy นับว่ามีความสำคัญทั้งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม และยังเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่จะนำแนวคิดดังกล่าว ไปใช้ ทั้งนี้เนื่องจากในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน การแข่งขันทางการค้าถือว่ามีความรุนแรง เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าที่แต่ละประเทศได้ทำความตกลงกัน ทำให้กำแพงกีดกัน ทางการค้าลดลงเป็นลำดับ และยิ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะเปิดเสรีการค้า บริการ การลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงาน ทำได้โดยเสรีมากขึ้นจากปัจจุบัน จึงมิอาจปฏิเสธได้ว่า AEC จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี(SMEs) ที่เป็นภาคการผลิตสำคัญและมีจำนวนผู้ ประกอบการเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงประมาณ 2.92 ล้านราย(ตัวเลข ณ สิ้นปี 2553) และส่วนใหญ่จะอยู่ในภาค การค้าและซ่อมบำรุง 1.38 ล้านราย ภาคบริการ 0.98 ล้านรายและภาคการผลิต 0.55 ล้านราย รวมจำนวนการจ้างแรงงานประมาณ 10.5 ล้านคน รวมทั้งเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ สร้างรายได้ประชาชาติหรือ GDP สูงถึงประมาณ 3.75 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 37.1 ของรายได้ประชาชาติทั้งประเทศ
ที่มา…ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
30 สิงหาคม 2554

http://ของขวัญของพรีเมี่ยม.com

 

Share This