เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะต้องเผชิญ ภายหลังจากการเกิดขึ้นของ AEC สามารถแยกออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
การแข่งขันเพื่อรักษาตลาดในประเทศ SMEs ไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นอันเกิดจากการรุกเข้ามาของสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านในระยะต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวรองรับการแข่งขัน ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV อันประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ส่วนใหญ่มีข้อได้เปรียบเด่นชัดในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างต่ำกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์มีจุดแข็งในเรื่อง เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานสินค้า ในขณะเดียวกัน ก็มีการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของตนเอง ให้มีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศในอาเซียนประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท(ปี 2553) ในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าโดยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประมาณ 0.33 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 27.0 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากอาเซียน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากอาเซียน ทั้งใน กลุ่มทั่วไปและกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากการปรับลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับ ลดลง ทั้งนี้สินค้าที่มีการนำเข้าจากประเทศอาเซียนโดยเอสเอ็มอีไทยสูงสุดได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ น้ำมันปิโตรเลียมและถ่าน หิน และพลาสติกและผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สำหรับประเทศในอาเซียนที่เอสเอ็มอีไทย มีการนำเข้าสินค้ามากที่สุดได้แก่ สิงคโปร์(ขยายตัว 195.3%) มาเลเซีย (ขยาย ตัว28.2%) อินโดนีเซีย (ขยายตัว8.1%) และฟิลิปปินส์ (ขยายตัว13.7%)
การขยายตลาดส่งออกไปสู่ต่างประเทศ ประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียนอีก 9 ประเทศ มีประชากรรวมกันถึงกว่า 500 ล้านคน เป็นตลาดที่มีประชากรใหญ่กว่าประเทศไทย 7-8 เท่าตัว ซึ่งแม้ว่าหลายๆประเทศจะมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าไทย แต่หากรวมประชากรในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง ก็มีเป็นจำนวนมาก และในอนาคต ผลจาก การพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในระดับสูงต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา จะทำให้ประชากรของประเทศเหล่านี้ มีรายได้และกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ และจะเป็นตลาด ส่งออกที่มีบทบาทสำคัญต่อสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมาเอสเอ็มอีของไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกประมาณ 1.75 ล้าน ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 28.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย (ปี 2553) และเป็นที่น่าสังเกตว่า อาเซียน เป็นตลาดส่งออกสินค้าของเอสเอ็มอีไทย ที่ มีบทบาทความสำคัญสูงสุด โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 0.38 ล้านล้านบาท(มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดอาเซียนอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.9 ของมูลค่าการส่งออกเอสเอ็มอีไทยทั้งหมด โดยตลาดอาเซียนที่เอสเอ็มอีไทย มีการส่งออกสูงสุดได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่หากพิจารณาจาก อัตราการขยายตัวสูงสุด จะได้แก่ ฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 57.1 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 46.7 และมีแนวโน้มที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดอาเซียน ทั้งในภาพรวม และการส่งออกในส่วนของเอสเอ็มอีไทย จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยสินค้าในกลุ่มเอสเอ็มอีไทยที่มีการส่งออกในสัดส่วนที่สูงได้แก่ น้ำตาล ยาง พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ทำจากพลาสติก และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือAEC ในปี 2558 นับเป็นประเด็นความท้าทายต่อเอสเอ็มอีไทยพอสมควร โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเพื่อ รองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการเข้ามาของสินค้านำเข้าที่มีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต ซึ่งจะเข้ามาแย่งตลาดกับสินค้าของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของไทย จึงควรนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาปฏิบัติ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมในการรับมือกับ AEC โดยจากการศึกษาถึงจุดเด่นของเอสเอ็มอีไทย พบว่ามี แรงงานฝีมือ และมีทักษะทางด้านศิลปะค่อนข้างสูง ประกอบกับขนาดของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่ใหญ่มากนัก ทำให้มีความคล่องตัวในการปรับรูปแบบธุรกิจ ให้สอดคล้องกับการ เปลี่ยนแปลงทางด้านการตลาด โดยเฉพาะผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นอกจากจะต้องการสินค้าที่เป็นวัตถุแล้ว ยังต้องการคุณค่าหรือรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะที่แฝงอยู่ในตัวสินค้า ด้วย เรียกได้ว่าผู้ผลิตยุคใหม่จะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการผลิตสินค้า ดังนั้น หากมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำเอาศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไทยมีอยู่ เป็นจำนวนมาก มาผสมผสานเข้ากับตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ จะยิ่งทำให้สินค้าไทยมีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น
ที่มา…ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
30 สิงหาคม 2554